วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พีระมิดคูฟู
พีระมิดแห่งกีซา ในสมัย คริสต์ศตวรรษที่ 19พีระมิดคูฟู หรือ พีระมิดคีออปส์ นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า มหาพีระมิดแห่งกีซา (อังกฤษ: The Great Pyramid of Giza) เป็น พีระมิดในประเทศอียิปต์ที่มีความใหญ่โตและเก่าแก่ที่สุด ในหมู่พีระมิดทั้งสามแห่งกีซา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัย ฟาโรห์คูฟู (Khufu) แห่ง ราชวงศ์ที่ 4 ซึ่งปกครองอียิปต์โบราณ เมื่อประมาณ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล หรือกว่า 4,600 ปีมาแล้ว เพื่อใช้เป็นที่เก็บรักษาพระศพ ไว้รอการกลับคืนชีพ ตามความเชื่อของชาวอียิปต์ในยุคนั้น มหาพีระมิดนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นหนึ่งเดียว ในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณ ที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน


ขนาด และรูปทรง ของพีระมิดคูฟู
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยของฟาโรห์คูฟู มหาพีระมิด มีความสูงถึง 147 เมตร (481 ฟุต หรือประมาณเท่ากับอาคารสูง 40 ชั้น เมื่อคิดความสูงที่ชั้นละ 3.5 เมตร) นับจากก่อสร้างแล้วเสร็จ พีระมิดคูฟูนับเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลก เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 43 ศตวรรษ จนกระทั่ง มีการก่อสร้าง มหาวิหารลินคอล์น (Lincoln Cathedral) ที่ ประเทศอังกฤษ ซึ่งมียอดวิหารสูง 160 เมตร ในปี พ.ศ. 1843 (ค.ศ. 1300) ซึ่งต่อมายอดวิหารนี้ถูกพายุทำลายในปี พ.ศ. 2092 (ค.ศ. 1549) แต่ขณะนั้นส่วนยอดพีระมิดคูฟูก็สึกกร่อนลงจนมีความสูงไม่ถึง 140 เมตร ทำให้ วิหารเซนต์โอลาฟ (St. Olav's Church) ในประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2062 (ค.ศ. 1519) กลายเป็นสิ่งก่อสร้างสูงที่สุดในโลกด้วยความสูงของยอดวิหาร 159 เมตร ปัจจุบันมหาพีระมิดมีความสูง ประมาณ 137 เมตร ซึ่งต่ำกว่าเมื่อแรกสร้างประมาณ 10 เมตร และรัฐบาลอียิปต์ได้ดำเนินการติดตั้ง โครงโลหะเพื่อแสดงถึงความสูงที่แท้จริง ขณะก่อสร้างแล้วเสร็จ ไว้ที่ส่วนยอดของ มหาพีระมิดคูฟู

รูปทรงของพีระมิดมีลักษณะเฉพาะตัว ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ประกอบด้วยด้านสามเหลี่ยม 4 ด้าน ยอดสามเหลี่ยมแต่ละด้าน เอียงเข้าบรรจบกัน เป็นยอดแหลม ฐานทั้ง 4 ด้านของพีระมิด กว้างด้านละประมาณ 230 เมตร (756 ฟุต กว้างกว่า สนามฟุตบอล ต่อกัน 2 สนาม) คิดเป็นพื้นที่ฐานประมาณ 53,000 ตารางเมตรหรือประมาณ 33 ไร่ ฐานล่างสุดของพีระมิด ก่อขึ้นบนชั้นหินแข็ง ซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ชั้นทราย เพื่อป้องกันปัญหา การทรุดตัวของชั้นทราย ซึ่งจะมีผล กับความคงทนแข็งแรง ของโครงสร้างพีระมิด ผิวหน้าแต่ละด้านของ พีระมิดคูฟู ทำมุมเอียงประมาณ 52 องศา ซึ่งมีส่วนทำให้พีระมิด คงทนต่อการสึกกร่อน อันเนื่องมาจากพายุทราย

ตามที่มีข้อมูลปรากฏในแหล่งต่างๆ อ้างถึง จำนวนหิน ที่นำมาก่อสร้าง พีระมิดคูฟู ต่างกันไปตั้งแต่ 2 ล้านถึง 2.6 ล้านก้อน ประมาณน้ำหนักเฉลี่ยก้อนละ 2.5 ตัน โดยจัดเรียงซ้อนกันขึ้นไปประมาณ 200 ชั้น คิดเป็นน้ำหนักรวมกว่า 6 ล้านตัน

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือด้านทั้ง 4 ของพีระมิดหันออกในแนวทิศ เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก ถูกต้องแม่นยำตามทิศจริงไม่ใช่ตามทิศเหนือแม่เหล็ก จึงไม่ใช่การกำหนดทิศด้วยเข็มทิศ ตำแหน่งของพีระมิดนั้น คลาดเคลื่อนจากทิศเหนือเพียง 3 ลิปดา 6 พิลิปดา [1] แสดงถึงความสามารถของ ชาวอียิปต์โบราณ ในการประยุกต์ความรู้ทางดาราศาสตร์ มาใช้ในการกำหนดทิศทางได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้คนงานก่อสร้างพีระมิดคูฟูยังสามารถทำงานได้อย่างเที่ยงตรงน่าทึ่ง โดยหินตรงส่วนฐานของพีระมิดจัดวางได้เสมอกัน มีความคลาดเคลื่อน เพียงไม่ถึง 2.5 เซนติเมตร และแต่ละด้านของฐานพีระมิด มีความกว้างคลาดเคลื่อนจากกัน เพียงไม่เกิน 8 นิ้ว หรือคิดเป็นเพียง 0.09 % ซึ่งถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดงานก่อสร้าง และระดับเทคโนโลยีในขณะนั้น


สวนลอยบาบิโลน
(อังกฤษ: Hanging Gardens of Babylon) จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งอยู่บนแม่น้ำยูเฟรติส ประเทศอิรักในปัจจุบัน สร้างโดยกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ที่ 3 แห่งกรุงบาบิโลเนีย สร้างให้แก่มเหสีของพระองค์ชื่อพระนางเซมีรามีส สร้างขึ้นเมื่อ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช สุงประมาณ 75 ฟุต กินพื้นที่ 400 ตารางฟุต ระเบียงทุกชั้นได้รับการตกแต่งด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนพุ่มชนิดต่างๆ มีระบบชลประทานชักน้ำจากแม่น้ำไทกิสไปทำเป็นน้ำตกและนำไปเลี้ยงต้นไม้ตลอดปี สวนนี้ได้พังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อหลังศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช



เทวรูปซูสที่โอลิมเปีย
(อังกฤษ: Statue of Zeus at Olympia) เป็นเทวรูปของซูส ซึ่งเป็นประธานเทวสภาโอลิมปัส สร้างจากไม้ ประดับด้วยทองคำและงาช้าง ลักษณะประทับนั่ง อยู่บนฐานกว้าง 10 เมตรครึ่ง ตัวเทวรูปสูงประมาณ 12 เมตร (43 ฟุต) พระหัตถ์ซ้ายถือคทา พระหัตถ์ขวารองรับไนกี้ เทพีแห่งชัยชนะ มีเครื่องประดับด้วยทองคำล้วน ออกแบบก่อสร้างในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช โดย ฟิดิแอส ประติมากรชาวเอเธนส์ เทวรูปนี้ประดิษฐานอยู่ในวิหารซูส ที่โอลิมเปีย ประเทศกรีซ

เทวรูปซูสที่โอลิมเปีย จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ถือเป็นเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ เช่นเดียวกับ ประภาคารฟาโรส หรือวิหารอาร์เทอมีส และถือเป็นสิ่งร่วมสมัยกับวิหารพาร์เธนอน

เทวรูปนี้ถูกทำลายลงเพราะอัคคีภัยในปี ค.ศ. 475 ปัจจุบันนี้ไม่เหลือซากชิ้นส่วนใด ๆ หลงเหลืออยู่เลย


วิหารอาร์เทอมีส
(อังกฤษ: Temple of Artemis) หรือ วิหารไดอานา (อังกฤษ: Temple of Diana) ถูกยกย่องให้เป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์ยุคต้น เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายเทพีอาร์เทอมีส ซึ่งเป็นเทพที่พวกนายพรานเคารพบูชา

มหาวิหารนี้เคยถูกไฟไหม้ ภายหลังได้รับการซ่อมแซมโดยอเล็กซานเดอร์มหาราช ปัจจุบันหลงเหลือเพียงซากเสาเท่านั้น

สุสานแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส หรือ สุสานแห่งโมโซลูส
(อังกฤษ: The Mausoleum at Halicarnassus, Tomb of Mausolus, กรีก: Μαυσωλεῖον τῆς Ἁλικαρνασσοῦ) เป็นสุสานขนาดใหญ่ของกษัตริย์โมโซลูสแห่งลิเชีย ในเอเชียไมเนอร์ จัดเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เป็นเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ

สุสานแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส ตั้งอยู่ที่ฮาลิคาร์นัสเซิส ประเทศตุรกี ในปัจจุบัน สร้างขึ้นโดยราชินี อาเตมีสเซีย หลังการสวรรคตของพระสวามี สร้างขึ้นระหว่าง 353-350 ปีก่อนคริสต์ศักราช สร้างขึ้นมาจากหินอ่อนในระหว่างปี ค.ศ. 156-190 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมกรีกโบราณ มีบันทึกไว้ว่า มีขนาดสูงถึง 140 ฟุต ฐานโดยรอบยาวถึง 460 ฟุต บนยอดสุดเป็นพื้นเหลี่ยมเล็กกว่าฐานล่าง ได้ปั้นเป็นรูปราชรถและม้า 1 ชุด กำลังวิ่ง และมีกษัตริย์และพระมเหสีประทับยืนอยู่บนราชรถม้า ประกอบด้วยลวดลายสวยงามมาก

สุสานแห่งฮาลิคาร์นัสเซิส พังทลายลงด้วยเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 12-13 ปัจจุบันจึงเหลือแต่เพียงซากชิ้นส่วน และชิ้นส่วนบางอย่างถูกเก็บรักษาไว้ที่ บริติช มิวเซียม ในประเทศอังกฤษ

มหารูปแห่งโรดส์
 (อังกฤษ: Colossus of Rhodes) เป็นเทวรูปขนาดใหญ่ของเทพเฮลิออส หรือ อพอลโล เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก จัดอยู่ในยุคเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ ร่วมสมัยกับประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรีย

มหารูปแห่งโรดส์สร้างมาจากสำริด เป็นเทวรูปของสุริยเทพอพอลโล ซึ่งเป็นหนึ่งในเทวสภาโอลิมปัส มีความสูงประมาณ 100 ฟุต (30 เมตร) มือขวาถือประทีป ประดิษฐานบนฐานทั้งสองข้างของปากอ่าวทางเข้าท่าเรือของเกาะโรดส์ ในทะเลอีเจียน ยืนถ่างขาคร่อมปากอ่าวให้เรือลอดไปมาได้

มหารูปนี้สร้างขึ้นโดย ชาเรสแห่งลินดอส ซึ่งเป็นประติมากรชาวกรีก ในราว 280 ปี ก่อนคริสตกาล ใช้เวลาสร้างประมาณ 12 ปี มีอายุยืนอยู่ได้ประมาณ 60 ปี ก่อนจะพังทลายลงด้วยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อ 226 ปี ก่อนคริสตกาล ซากชิ้นส่วนของมหารูปได้ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีใครดูแล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ซากที่เหลืออยู่ถูกขายให้แก่ชาวเมืองซาราเซน ไปทำอาวุธในการทำสงครามครูเสดจนหมด จนถึงปัจจุบันไม่มีเหลือซากของมหารูปนี้หลงเหลืออยู่แล้ว

ประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรีย
หรือ ประภาคารแห่งอเล็กซานเดรีย (อังกฤษ: Pharos of Alexandria, Lighthouse of Alexandria, คำว่าฟาโรสในภาษากรีก (Φάρος) แปลว่าประภาคาร) เป็นประภาคารโบราณซึ่งจัดให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งอยู่บนเกาะฟาโรส เมืองอเล็กซานเดรีย ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สร้างประมาณ 270 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในรัชสมัยพระเจ้าปโตเลมีที่ 1 โดยสถาปนิกชื่อ โซสเตรโตส

ตัวประคาภารมีความสูงเท่าใดไม่แน่ชัด แต่อยู่ในระหว่าง 200-600 ฟุต (ขนาดพอ ๆ กับ เทพีเสรีภาพ) สร้างด้วยหินอ่อนแกะสลัก มีตะเกียงขนาดใหญ่บนยอด นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าในเวลากลางวันจะปล่อยควัน ในเวลากลางคืนจะเป็นแสงไฟสว่างที่เห็นได้จากระยะไกล ซึ่งยังไม่ทราบว่าใช้วิธีใดในการจุดไฟและส่องแสง บ้างก็สันนิษฐานว่าใช้กระจกในการส่องแสง บ้างก็เชื่อว่า สามารถส่องแสงได้ถึง 4 ทาง แต่บางส่วนก็เชื่อว่า ส่องแสงได้เพียงแค่ 2 ทางเท่านั้น

ประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรีย มีอายุอยู่ได้ยาวนานถึง 1,600 ปี จนกระทั่งในประมาณศตวรรษที่ 13-14 เกิดแผ่นดินไหวทำให้ประภาคารพังลงมา

ในปี ค.ศ. 1994 นักโบราณคดีได้ดำน้ำสำรวจบริเวณปากอ่าวอเล็กซานเดรีย พบหลักฐานของสิ่งที่เชื่อว่าเป็นซากชิ้นส่วนของประภาคารฟาโรสแห่งอเล็กซานเดรีย ซึ่งบางส่วนเป็นหินที่หนักถึง 70 ตันและเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ





 

แหล่งอ้างอิง : http://th.wikipedia.org และ http://www.youtube.com